ปัจจุบันมีหอศิลป์มากมายเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ งานที่จัดแสดงผลงานศิลป์ที่มีความสวยสดงดงามมากมายหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานของศิลปินชื่อดังจากต่างประเทศ งานแสดงนิทรรศการศิลปะแบบแปลกใหม่ต่างๆ และยังเป็นพื้นที่ให้กับศิลปินหน้าใหม่ของไทยให้มีที่แสดงผลงานของตนเองทั้งระดับอุดมศึกษาไปจนถึงระดับครูอาจารย์ให้เราได้ชมกันอยู่ตลอด แต่หลายๆ ท่านคงไม่ทราบว่าหอศิลป์ของกรุงเทพอยู่ที่ไหน ปัจจุบันมีหอศิลป์ใดที่น่าสนใจบ้าง การเดินทางไปอย่างถึงจะสะดวกที่สุด วันนี้เราจะพาทุกๆ ท่านไปพบกับคำตอบเหล่านี้กันครับ

หอศิลป์มีไว้ทำอะไร ?

หอศิลป์ หรือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ (อังกฤษ: Art Museum หรือ Art Gallery) เป็นบริเวณหรืออาคารที่ใช้ในการแสดงนิทรรศการศิลปะ หอศิลป์มีทั้งแบบที่เปิดให้เข้าชมในลักษณะสาธารณะ หรือหอศิลป์ส่วนตัวที่เปิดให้ชมเฉพาะบุคคลขึ้นอยู่กับการบริหารของเจ้าของอาคาร โดยส่วนมากหอศิลป์จะแสดงภาพเขียน โดยนอกเหนือจากนี้หอศิลป์ยังมีการแสดง ประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์ ลายผ้า ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย อีกด้วย

ความเป็นมาของหอศิลป์กรุงเทพมหานคร ?

โครงการก่อการสร้างหอศิลป์ได้เริ่มขึ้นเมื่อ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้มีมติร่วมกับคณะกรรมการโครงการ เฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2538 ให้กรุงเทพมหานครจัดสร้าง หอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร ณ สี่แยกปทุมวัน แต่ต่อมาโครงการต้องมาสดุดหยุดลงเมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครคนต่อมา ในปี 2544 ได้ล้มเลิกโครงการหอศิลป์ตามรูปแบบเดิมและเปลี่ยนให้มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์มากขึ้น องค์กรด้านศิลปะพร้อมกับเหล่าศิลปิน, อาจารย์, นักศึกษาและสื่อมวลชนต่างได้ร่วมกันคัดค้านการระงับโครงการเดิม มีการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้ผู้บริหาร กรุงเทพมหานครในสมัยนั้นทบทวนโครงการ รวมทั้งการจัดกิจกรรมวาดภาพเขียนยาว 4 กิโลเมตร ในหัวข้อ ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า กระทั่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2547 เครือข่ายศิลปินและประชาชนจึงได้นำโครงการหอศิลป์เข้าหารือและได้รับการพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการจัดสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจนอยู่มาถึงปัจจุบัน

หอศิลป์แบ่งออกเป็นกี่ประเภทและตั้งอยู่ที่ใดบ้าง ?

หอศิลป์ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่
1. หอศิลป์แห่งชาติ เป็นหอศิลป์ที่มีความสำคัญระดับชาติ อยู่ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการของรัฐบาล เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ตั้งอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณกรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ
2. หอศิลป์ประจำจังหวัด อยู่ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการของหน่วยงานในระดับจังหวัด หรือส่วนราชการในระดับท้องถิ่น เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อยู่ที่สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ
3. หอศิลป์ในมหาวิทยาลัย อยู่ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา เช่น หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นต้น
4. หอศิลป์เอกชน อยู่ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการของบุคคล สมาคม องค์กร หรือบริษัทเอกชน เช่น บางกอก อาร์ต เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นหอศิลป์เอกชนแห่งแรก ห้องศิลปนิทรรศมารศี พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด  หอศิลป์ริมน่าน ของนายวินัย  ปราบริปู ที่จังหวัดน่าน เป็นต้น